เมื่อวันที่ 29 พฤษภาคม 2567 นางสาวศุภมาส อิศรภักดี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ได้ลงพื้นที่เยี่ยมชมหน่วยปฏิบัติการผลิตผลิตภัณฑ์เพื่อเซลล์และยีนบำบัด (Cell and Gene Production Unit; CPU) ของศูนย์ความเป็นเลิศด้านชีววิทยาศาสตร์ (องค์การมหาชน) หรือ TCELS พร้อมด้วยคณะผู้บริหารและนักวิจัยจาก บริษัท เจเนพูติก ไบโอ จำกัด โดยมี ศ.เกียรติคุณ ดร.นพ.ประสิทธิ์ วัฒนาภา ประธานกรรมการ TCELS ดร.จิตติ์พร ธรรมจินดา ผู้อำนวยการ TCELS ศ.ดร.ชูกิจ ลิมปิจำนงค์ ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) รศ.ดร.ธงชัย สุวรรณสิชณน์ ผู้อำนวยการหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ (บพข.) ศ.ดร.ศันสนีย์ ไชยโรจน์ ประธานอนุกรรมการแผนงานกลุ่มสุขภาพและการแพทย์ หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ (บพข.) ศ.นพ.สุรเดช หงส์อิง ผู้ก่อตั้ง บริษัท เจเนพูติก ไบโอ จำกัด (Genepeutic Bio; GNPT) นายสมโภชน์ อาหุนัย ผู้ถือหุ้นบริษัท เจเนพูติก ไบโอ จำกัด และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท พลังงานบริสุทธิ์ จำกัด (มหาชน) นพ.ปรินทร์ รัตนานนท์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร และ ดร.กิตติพงษ์ เอื้อสุนทราชุน ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายวิทยาศาสตร์ ร่วมต้อนรับ รมว.อว. ณ อาคารนวัตกรรม 2 อุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทย
หน่วยปฏิบัติการ CPU เป็นโรงงานมาตรฐานระดับ GMP สำหรับผลิตผลิตภัณฑ์เซลล์และยีนบำบัดในพื้นที่กว่า 600 ตารางเมตร โดยผลิตผลิตภัณฑ์เพื่อเซลล์และยีนบำบัด หรือ CAR-CD19 T-cell เพื่อรักษาผู้ป่วยมะเร็งเม็ดเลือดขาวชนิดบีเซลล์ (ลูคีเมีย) การดำเนินงานที่มีความสอดคล้องตามนโยบาย “วิจัย-นวัตกรรมดี ตอบโจทย์ ตรงความต้องการ” ของกระทรวง อว.ที่มุ่งเน้นการวิจัยและนวัตกรรมเพื่อความยั่งยืนและเศรษฐกิจชีวภาพ
ปัจจุบันการรักษาโรคลูคีเมียด้วยเซลล์และยีนบำบัด จำเป็นต้องอาศัยยาจากการนำเข้าหรือเดินทางไปรักษาที่ต่างประเทศ ซึ่งเป็นทางเลือกในการรักษาสำหรับผู้ป่วยที่มีโรคกลับเป็นซ้ำหรือไม่ตอบสนองต่อการรักษามาตรฐาน (Relapse and Refractory Disease) ซึ่งมีค่าใช้จ่ายที่สูงและยากต่อการเข้าถึงการรักษา บริษัท เจเนพูติก ไบโอ จำกัด จึงก่อตั้งขึ้นเพื่อดำเนินการผลิตผลิตภัณฑ์เซลล์และยีนบำบัด และเพื่อยกระดับงานวิจัยไปสู่ระดับอุตสาหกรรม พร้อมทั้งขยายโอกาสในการรักษาโรคลูคีเมีย ที่สามารถใช้ผลิตภัณฑ์เซลล์และยีนบำบัดในการรักษาได้ อีกทั้งส่งเสริมให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการแพทย์ครบวงจร (Medical Hub) ในอนาคต
ในโอกาสนี้ นางสาวศุภมาส อิศรภักดี รัฐมนตรีว่าการกระทรวง อว. กล่าวเพิ่มเติมว่า “กระทรวง อว. พร้อมให้การสนับสนุนงานวิจัยและพัฒนานวัตกรรมด้านการแพทย์และสุขภาพ เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตที่ดีของประชาชนไทยและเพิ่มโอกาสในการแข่งขันในระดับนานาชาติต่อไป”